#เด็กและเยาวชนชายขอบ

มจธ. ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนในเขตป่ารอยต่อภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา

By admin   24 Jan 2023

มจธ. ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนในเขตป่ารอยต่อภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา




เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2566 คุณศุเรนทร์ ฐปนางกูร (ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ) นำคณะทำงาน มจธ. ร่วมกับ คุณศรินยา คำพิลา (เจ้าหน้าที่มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม และเจ้าหน้าที่เครือข่ายป่าตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา) ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน ตชด. บ้านนาอิสาน โรงเรียนบ้านหินแร่ และโรงเรียนบ้านคลองยายสร้อย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออก อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่และข้อมูลทั่วไปของโรงเรียน รับทราบปัญหาและความต้องการของโรงเรียน เพื่อพัฒนาเป็นงานส่งเสริมการบริการวิชาการและงานวิจัยต่อไป

1. โรงเรียน ตชด. บ้านนาอิสาน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด กก.ตชด.12 มีจำนวนครูทั้งหมด 12 คน และนักเรียน ป.1-ป.6 รวม 90 คน ปัญหาและความต้องการของโรงเรียน คือ ครูผู้สอนไม่ตรงตามวุฒิการศึกษาที่เรียนจบ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนของครู นักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับทุนยากจนทั้งๆ ที่ยากจนจริงๆ โรงเรียนต้องการกิจกรรมการส่งเสริมความรู้นอกห้องเรียนที่สามารถบูรณาการกับสาระวิชาเรียนได้ และการเพิ่มทักษะความรู้ทางด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอสำหรับเด็กนักเรียน

  


2. โรงเรียนบ้านหินแร่ เป็นนโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ฉะเชิงเทรา เขต 2 มีจำนวนครูทั้งหมด 22 คน และนักเรียน ป.1-ม.3 รวม 386 คน ปัญหาและความต้องการของโรงเรียน คือ ครูอยู่สอนประมาณ 2-3 ปี ก็ขอย้ายโรงเรียน ทำให้เกิดปัญหาด้านความต่อเนื่องในการเรียนการสอน ขาดครูรับผิดชอบวิชาการอาชีพด้านการเกษตร โรงเรียนต้องการกิจกรรมส่งเสริมความรู้นอกห้องเรียนที่สามารถบูรณาการกับสาระวิชาเรียนได้ และการพัฒนาวิชาการอาชีพด้านการเกษตรในโรงเรียน


3. โรงเรียนบ้านคลองยายสร้อย เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ฉะเชิงเทรา เขต 2 มีจำนวนครูทั้งหมด 18 คน และนักเรียน ป.1-ม.3 รวม 267 คน ปัญหาและความต้องการของโรงเรียน คือ นักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับทุนยากจนทั้งๆ ที่มีฐานะยากจนจริงๆ โรงเรียนต้องการการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตรให้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเชิงปริมาณและคุณภาพ




จากปัญหาและความต้องการของทั้ง 3 โรงเรียนดังกล่าว ได้มีการประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้


1. การช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจน โดยการแจกทุนการศึกษาให้กับเด็กเป็นต้นไม้ ภายใต้โครงการ “ปลูกต้นไม้ในใจคน” ลักษณะของโครงการจะเป็นการมอบกล้าไม้ให้กับนักเรียนที่ขาดทุนการศึกษา นำไปปลูกและดูแลรักษา เมื่อถึงเวลาสามารถตัดไม้ขายเพื่อเป็นทุนการศึกษา

2. การส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตรโดยใช้ IOT (Internet of thing) เข้ามาช่วยการจัดการในการเกษตร เพื่อเป็นการกระตุ้นความน่าสนใจในการทำเกษตรเทคโนโลยีใหม่สำหรับนักเรียน และยกระดับทักษะทางด้านการเกษตรในโรงเรียนให้ดีขึ้น

3. การอบรมเชิงปฏิบัติการ Workshop สำหรับครูทั้งโรงเรียน เกี่ยวกับการเชื่องโยงกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน และความรู้นอกห้องเรียนที่สามารถบูรณาการกับทุกสาระวิชาเรียนได้ เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนต่อไป



ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา


คนเขียน

Admin

ผลงาน

Admin KMUTT SOCIAL LAB

ตำแหน่ง

Admin KMUTT SOCIAL LAB