ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน

พื้นที่ท้าทายชวนทำ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน

ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มจธ.ทำงานใน 2 พื้นที่หลักประกอบด้วย 


1. โครงการแม่ข่าย ว.และ ท. อ.นาแห้ว จ.เลย

หลังการสู้รบบ้านร่มเกล้า ราษฎรในอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เกิดความหวาดกลัว ในการใช้ชีวิตในพื้นที่เดิม จึงมีการจัดตั้งโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2532 บ้านบ่อเหมืองน้อยและบ้านห้วยน้ำผักเป็น 2 หมู่บ้าน มีการจัดตั้งใหม่ตามแนวชายแดน เพื่อแสดงอาณาเขตประเทศไทยให้เด่นชัดด้วยคน ต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้าง มีการรับสมัครราษฎรทั่วไป ทหารกองหนุน ทหารพราน ทหารผ่านศึก เข้ามาฝึกอบรมเพื่อคัดเลือกเป็นราษฎรอาสาและจัดสร้างที่พักอาศัยเป็นหมู่บ้านกันชน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ลาดชัน ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเองและมีฐานะยากจน

กองทัพภาคที่ 2 และภาคที่ 3 เห็นว่าเมื่อทหารถอนตัวออกจากพื้นที่แล้ว ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ จึงขอให้ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และดร.มรกต ตันติเจริญ เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ในปี พ.ศ.2538 และดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดี มจธ. ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกับชนบท ชักชวนคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้ง มจธ. ด้วย เข้าไปดูพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้าน พบว่าพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านทั้งสองมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ด้วยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย (นาแห้ว) สภาพภูมิประเทศสูงชัน ภูมิอากาศหนาวเย็น ตลอดทั้งปี
มจธ.เริ่มงานในปี พ.ศ. 2539 โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้คนสามารถดำรงชีวิตในพื้นที่ชนบท และ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ได้  มีการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ชนบทให้เกิดความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเอง ลดการอพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกหมู่บ้าน ให้ชุมชนทั้งสองคงสภาพเป็นหมู่บ้านกันชนต่อไป โดยอาศัยการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานในชุมชน ชาวบ้าน สถาบันการศึกษา และเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของนักศึกษาสายวิชาการจัดการทรัพยากรชีวภาพ

2. โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อ.เต่างอย จ.สกลนคร

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำรที่จะช่วยเหลือ ประกอบด้วย

1.ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรในหมู่บ้านนางอย-โพนปลาไหลให้ดีขึ้น 
2.ส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 
3. ภายหลังดำเนินการพัฒนาแล้ว ราษฎรในหมู่บ้าน สามารถรักษาสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยกลุ่มชาวบ้านเอง 

ในส่วนของการพัฒนาอาชีพนั้นได้สอนให้เกษตรกรปลูกมะเขือเทศ เพื่อผลิตมะเขือเทศเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปเป็นโรงที่ 3 ทำการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศเป็นครั้งแรกในปี 2525 และได้ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนต่อมา การพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตรยังได้ดำเนินการเพื่องานในระยะยาว โดยการนำพืชที่สามารถให้ผลผลิตเพื่อการแปรรูปมาให้เกษตรกรปลูก เช่น ไผ่ตง มะละกอ เมื่อประสบความสำเร็จอาจเป็นการเริ่มต้นของการมีสวนผลไม้กึ่งยืนต้น ที่จะป้อนวัตถุดิบเข้าระบบอุตสาหกรรมต่อไป โรงงานหลวงแห่งนี้รับซื้อผลผลิตเป็นส่วนใหญ่จากเกษตรกรในกิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมือง และอำเภอกุดบาก ในจังหวัดสกลนคร และขยายการรับซื้อไปถึงจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และหนองคาย 



พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้โรงงานหลวงมีบทบาทหลักต่อการพัฒนาชนบทผ่านกลไกการพัฒนาระบบเกษตรอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืชเพื่อส่งเข้าโรงงานหลวง โดยมีข้อตกลงล่วงหน้า มีการประกันการซื้อและการประกันราคาขั้นต่ำ เกิดกลไกการพัฒนาการรวมกลุ่มเกษตรกร ระบบบริหารจัดการการเกษตร การพัฒนาความสามารถของเกษตรกร เกิดกลไกพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตร ระบบการจัดการการผลิต ประกันคุณภาพ และการพัฒนาคนในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจสังคมและการกระจายรายได้ ในรูปค่าวัตถุดิบ การจ้างงาน เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบการเกษตร ลดการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อขายแรงงานในเมือง สร้างความมั่นคงให้สถาบันครอบครัวและชุมชนชนบท